Ministry of Health (MOH) Blog สุขภาพ การรักษา และการป้องกันไม่ให้เป็นโรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
สุขภาพ ความรู้รอบตัว

การรักษา และการป้องกันไม่ให้เป็นโรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

ปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ คือการที่มีปัสสาวะออกมาโดยไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย แต่จะพบได้บ่อยสุดในผู้สูงอายุ โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในเพศหญิงสาเหตุสำคัญคือการที่ระดับเอสโตรเจนลดลงอย่างรวดเร็วในวัยหมดประจำเดือน เป็นเหตุให้ผนังท่อปัสสาวะบางลง ลดความสามารถในการปิดของหูรูดท่อปัสสาวะ ส่งผลให้หูรูดปิดสนิทได้ยากขึ้น ทำให้เกิดภาวะปัสสาวะเล็ดได้ ส่วนในเพศชายมักเกิดจากการที่มีภาวะต่อมลูกหมากโตจึงไปขัดขวางทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เช่น กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอ ซึ่งอาจเกิดจากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร หรืออายุที่มากขึ้น การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ผู้ที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายบกพร่อง ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ผู้ที่ท้องผูกเรื้อรัง หรือการได้รับยาบางชนิด เป็นต้น

อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่  การรั่ว และหลุดของปัสสาวะออกมาโดยไม่ตั้งใจ มีหลายรูปแบบดังนี้

  1. อาการไอจามปัสสาวะเล็ด

โดยมีปัญหาหลักมาจากกล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อรองรับอวัยวะในอุ้งเชิงกรานเกิดการหย่อนยาน ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการฉีกขาดจากการตั้งครรภ์ การคลอดบุตรผ่านทางช่องคลอด เนื้องอกในอุ้งเชิงกรานหรือการผ่าตัดเนื้องอกในอุ้งเชิงกราน ส่งผลให้หูรูดและท่อปัสสาวะไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ปิดได้ไม่สนิท ผู้ป่วยจะมีปัสสาวะเล็ดออกมาในขณะที่ ไอ จาม หรือยกของหนัก เป็นต้น

  1. อาการปัสสาวะราด

ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อกระเพาะปัสสาวะไม่สามารถถ่ายปัสสาวะออกได้หมดจด ทำให้เกิดการรั่วหรือหลุดของปัสสาวะ ปัญหาหลักมาจากกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะอ่อนแอ ซึ่งทำให้กระเพาะปัสสาวะไม่สามารถบีบตัวได้อย่างเต็มที่เพื่อขับปัสสาวะออกหมด และปัญหาทางประสาทที่มีผลต่อการส่งสัญญาณระหว่างกระเพาะปัสสาวะและสมอง

  1. อาการไอจามปัสสาวะเล็ด ร่วมกับอาการปัสสาวะราด

ปัสสาวะเล็ด เกิดขึ้นเมื่อมีแรงกด จากการไอ, จาม, หัวเราะ, หรือการยกของทำให้มีการรั่วของปัสสาวะออกมาเพราะกล้ามเนื้อที่ช่วยในการกลั้นปัสสาวะอ่อนแอหรือไม่แข็งแรงพอที่จะควบคุมกระเพาะปัสสาวะให้ปิดสนิทได้

ปัสสาวะราด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อกระเพาะปัสสาวะไม่สามารถขับปัสสาวะออกหมด มักเกิดจากการอุดตันหรือกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะที่อ่อนแอ ทำให้ปัสสาวะไหลออกมาโดยไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะเมื่อกระเพาะปัสสาวะเต็ม

  1. อาการปัสสาวะรดที่นอน

สาเหตุของอาการปัสสาวะรดที่นอนมาจากการที่กล้ามเนื้อหูรูดของท่อปัสสาวะและอุ้งเชิงกรานมีการคลายตัวมากกว่าปกติในขณะหลับ เพราะมีการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติบกพร่อง ซึ่งโดยปกติระบบประสาทอัตโนมัติจะทำหน้าที่กระตุ้นให้กล้ามเนื้อดังกล่าวให้มีการบีบตัวตลอดเวลา เพื่อให้ท่อปัสสาวะปิดสนิทในขณะหลับ หรือเกิดจากมีการสร้างน้ำปัสสาวะในช่วงกลางคืนมากกว่าปกติ  ส่งผลให้มีน้ำปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจนความดันในกระเพาะปัสสาวะสูงกว่าท่อปัสสาวะ

  1. อาการปัสสาวะไหลซึมตลอดเวลา

ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ที่มีอาการนี้ประสบกับการรั่วไหลของปัสสาวะอย่างต่อเนื่องโดยไม่สามารถควบคุมได้ สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มตามสาเหตุคือ ผู้ป่วยมีรูรั่วของกระเพาะปัสสาวะหรือท่อไต ซึ่งมักจะเกิดมาจากการผ่าตัด การฉายรังสีรักษาบริเวณอุ้งเชิงกราน หรือมะเร็งของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานอื่นๆ ที่ลุกลามเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากการทำงานของทางเดินปัสสาวะส่วนล่างผิดปกติ เช่น ท่อปัสสาวะไม่สามารถปิดได้สนิท หรือเกิดจากกระเพาะปัสสาวะไม่สามารถบีบตัวได้ จนน้ำปัสสาวะไหลล้นออกมาเนื่องจากความดันในกระเพาะปัสสาวะที่สูงขึ้น

  1. อาการปัสสาวะไหลซึมออกมาในขณะที่มีการเปลี่ยนท่าทาง

อาการนี้มีสาเหตุความผิดปกติแบบเดียวกันกับอาการไอจามปัสสาวะเล็ด คือท่อปัสสาวะของผู้ป่วยไม่สามารถปิดสนิทได้เนื่องมาจากการหย่อนยานของกล้ามเนื้อ หรือเนื้อเยื่อรองรับอวัยวะในอุ้งเชิงกราน เมื่อผู้ป่วยมีการเปลี่ยนท่าทางจากนั่งหรือนอนเป็นท่ายืน ความดันภายในช่องท้องจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างกระทันหัน ส่งผลให้ความดันในกระเพาะปัสสาวะมีการเพิ่มขึ้นพร้อมกัน แต่เนื่องจากมีความอ่อนแอของเนื้อเยื่อและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ทำให้ท่อปัสสาวะไม่สามารถปิดได้สนิท มีประสิทธิภาพไม่เต็มที่ จึงเกิดปัสสาวะเล็ดรอดออกมา

  1. อาการปัสสาวะไหลซึมออกมาโดยไม่รู้สึกตัว

อาการดังกล่าวอาจเกิดจากความผิดปกติทางกายภาพ เช่น มีการไหลซึมของน้ำปัสสาวะบางส่วนเข้าไปในช่องคลอดในขณะปัสสาวะ เมื่อผู้ป่วยเสร็จสิ้นการปัสสาวะและเปลี่ยนท่าทางจะพบว่ามีน้ำปัสสาวะออกปนออกมา หรือในผู้ป่วยที่มีกระเพาะของท่อปัสสาวะ  ซึ่งมีรูเปิดออกบริเวณท่อปัสสาวะส่วนปลาย เมื่อปัสสาวะเสร็จแล้ว อาจจะมีน้ำปัสสาวะเปื้อนติดการเกงใน ส่วนความผิดปกติทางด้านการทำงาน เช่น การมีน้ำปัสสาวะค้างอยู่ในท่อปัสสาวะบางส่วนเนื่องจากหูรูดทั้งสองชั้นทำงานผิดปกติไม่สัมพันธ์กัน การรักษาโดยส่วนใหญ่จะรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบได้ชัดเจนเท่านั้น หากยังไม่สามารถพบสาเหตุที่ชัดเจนมักจะให้การแนะนำและเฝ้าติดตามดูอาการ

  1. อาการปัสสาวะเล็ด หรือราดในขณะมีเพศสัมพันธ์

เป็นภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ที่เกิดในขณะมีเพศสัมพันธ์ อาจจะส่งผลให้มีปัญหาชีวิตคู่ ซึ่งอาการนี้มักพบร่วมกับอาการไอจามปัสสาวะเล็ด ในผู้หญิงที่ยังคงมีเพศสัมพันธ์อยู่สม่ำเสมอ และมีความผิดปกติที่เกิดขึ้นแบบเดียวกับอาการไอจามปัสสาวะเล็ด นอกจากนี้บางรายอาจมีความผิดปกติในการทำงานของกระเพาะปัสสาวะร่วมด้วย เช่นกระเพาะปัสสาวะมีการทำงานที่ไวเกิน การรักษาจึงเป็นวิธีการเดียวกันกับผู้ป่วยที่มีอาการไอจามปัสสาวะเล็ด

การป้องกันและรักษาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

วิธีป้องกัน

การฝึกกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ (Pelvic floor exercises)

  • การออกกำลังกาย เช่น การฝึก Kegel (การฝึกขมิบหรือการฝึกบริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน)

การควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม

  • การรักษาน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมช่วยลดแรงกดที่กระเพาะปัสสาวะและกล้ามเนื้อรอบๆ

การปรับปรุงพฤติกรรมการดื่มน้ำ

  • ปรับปริมาณน้ำที่ดื่มในแต่ละวันให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมากเกินไปหรือน้อยเกินไป
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่กระตุ้นกระเพาะปัสสาวะ เช่น แอลกอฮอล์ และคาเฟอีน

การเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์

  • ควรงดสูบบุหรี่ เพราะส่วนประกอบในบุหรี่ อย่าง นิโคตินเป็นสารกระตุ้นที่สามารถทำให้เกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้
  • ควรที่จะต้องฝึกการปัสสาวะให้เป็นเวลา หรือตั้งเวลาเอาไว้ เพื่อควบคุมการไปห้องน้ำ

วิธีในการรักษาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

บำบัดด้วยการฝึกกล้ามเนื้อและการบำบัดพฤติกรรม

  • ฝึกปัสสาวะตามกำหนดเวลา การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานานขึ้นทีละนิด เพื่อเพิ่มความสามารถในการกลั้น

การใช้ยา

  • ยาบางชนิดสามารถช่วยลดอาการปัสสาวะเร่งและเพิ่มความสามารถในการกลั้นปัสสาวะได้

การผ่าตัด

  • ในกรณีที่ทำการรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล อาจพิจารณาการผ่าตัดเพื่อปรับปรุงหรือซ่อมแซมกล้ามเนื้อและโครงสร้างที่สนับสนุนกระเพาะปัสสาวะค่ะ

สรุป

ทั้งนี้การกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ถือเป็นปัญหาใหญ่และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิติประจำวันของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ในหลายๆ ด้าน ดังนั้นการเข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดโรคกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในแต่ละชนิดเป็นอย่างดี รวมถึงวิธีป้องกันและแนวทางในการรักษาที่ตรงจุดกับอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในแต่ละประเภท จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถป้องกัน และดูแลรักษาตนเองได้เอย่างหมาะสม และมีโอกาสรักษาให้หายได้ค่ะ

Exit mobile version